ปะลิส

ปะลิส (Perlis) หรือ เปอร์ลิส (ยาวี : فرليس) มีชื่อเต็มคือ เปอร์ลิสอินดะรากายางัน (Perlis Indera Kayangan) เป็นรัฐที่เล็กที่สุดในมาเลเซียอยู่ทางตอนเหนือสุดของคาบสมุทรมาเลเซีย และติดชายแดนประเทศไทย
ประชากรของรัฐมีจำนวน 198,335 คน ในปี 2543 ในจำนวนนี้เป็นชาวมาเลย์ประมาณ 166,200 คน หรือ 78% ชาวจีน 24,000 คน หรือ 17% ชาวอินเดีย 3,700 คน อื่น ๆ 5,400 คน) เมืองหลวงของรัฐปะลิสคือ กังการ์ เมืองที่เป็นที่ประทับของเจ้าผู้ครองนครคืออาเรา นอกจากนี้เมืองการค้าสำคัญบริเวณชายไทย-มาเลเซียคือปาดังเบซาร์ ส่วนเมืองท่าของรัฐซึ่งเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของรัฐคือกัวลาปะลิส

ประวัติ

ปะลิสเดิมเป็นส่วนหนึ่งของเมืองไทรบุรี แม้ว่าบางครั้งจะอยู่ภายใต้การปกครองของสยามหรืออะเจะห์ก็ตาม หลังจากสยามปราบไทรบุรีได้ในปี พ.ศ. 2364 (ค.ศ. 1821) อังกฤษก็รู้สึกว่าผลประโยชน์ของตนในเมืองเประถูกคุกคาม
ผลทำให้ในปี พ.ศ. 2369 (ค.ศ. 1826) เกิดข้อตกลงระหว่างสยามและสองรัฐมลายูในนามของเจ้าผู้ครองนคร ในสนธิสัญญาเบอร์นีได้เนรเทศสุลต่านอาห์มัด ตาจุดดิน ออกจากตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครไทรบุรี ไม่สามารถกลับเข้ามาปกครองได้อีกจนกระทั่งปี พ.ศ. 2385 (ค.ศ. 1842) โดยยอมรับอำนาจของสยามในที่สุด
แต่อย่างไรก็ตาม จากความไม่ไว้วางใจของสยามในตัวเจ้าผู้ครองนคร ทำให้สยามแยกไทรบุรีออกเป็นสี่ส่วนขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร ได้แก่ สตูล ปะลิส ไทรบุรี และกุบังปาสู
ซัยยิด ฮุสเซน ญะมาลุลลัยล์ ผู้มีพื้นเพมาจากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นหลานของสุลต่านไทรบุรี ได้กลายเป็นรายาองค์แรกของเมืองปะลิส ผู้สืบสกุลของรายาองค์นี้ยังคงปกครองปะลิส แต่เป็นในฐานะรายา แทนที่ฐานะสุลต่าน
ต่อมา สนธิสัญญาอังกฤษ-สยาม ค.ศ. 1909 บังคับให้สยามต้องสละเมืองปะลิสให้กับอังกฤษ พร้อม ๆ กับเมืองไทรบุรี เมืองกลันตัน และเมืองตรังกานู โดยอังกฤษได้แต่งตั้งผู้แทนของอังกฤษขึ้นในเมืองอาเรา

เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจของรัฐส่วนใหญ่เป็นด้านเกษตรกรรม เช่น ข้าว น้ำตาล และการประมงเป็นสำคัญ ส่วนด้านอุตสาหรรมส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก