มะละกา

รัฐมะละกา เป็นรัฐทางตอนใต้ในประเทศมาเลเซีย ตั้งอยู่บริเวณช่องแคบมะละกา ตรงข้ามกับเกาะสุมาตรา รัฐมะละกาเป็นหนึ่งในสองรัฐของมาเลเซียที่ไม่มีเจ้าผู้ครองรัฐเป็นประมุข แต่มีผู้ว่าราชการรัฐแทน เป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้าระหว่างตะวันออกและตะวันตกบนช่องแคบมะละกามาก ว่า 500ปี มีลักษณะของสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างศิลปกรรมโปรตุเกส ดัชต์และมาเลย์ ได้รับการยกย่องให้เป็นนครประวัติศาสตร์บนช่องแคบมะละกาจากองค์การยูเนสโก

ประวัติศาสตร์

เมื่อราว พ.ศ. 1800 เจ้าชายปรเมศวร หรือปาราเมิสวารา ได้ทรงอพยพออกจากปาเล็มบัง เหตุเนื่องด้วยการรุกรานจากอาณาจักรมัชปาหิต ซึ่งก่อนที่จะมาถึงมะลากานั้น เจ้าชายปรเมศวรได้เข้าไปตั้งเมืองอยู่ที่ตูมาซิกหรือเตมาเซก หรือสิงคโปร์ใน ปัจจุบัน แต่เนื่องด้วยในตอนนั้นตูมาซิก ตกอยู่ใต้อำนาจของสยาม ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกับสยามและเจ้าชายองค์นี้จึงต้องออกเดินทางออกมา จนมาถึงที่มะละกา มาสร้างเมืองใหม่ที่นี่และกลายเป็นจักรวรรดิการค้าที่ยิ่งใหญ่ในอีก 200 ปีต่อมา และเป็นแหล่งแรกที่ศาสนาอิสลามเข้าสู่มาเลเซียผ่านทางพ่อค้ามุสลิมอินเดียที่มาจากปาไซ และเปลี่ยนการปกครองมาเป็นระบอบสุลต่าน ต่อมา พ.ศ. 2052 โปรตุเกสเดินทางมาถึงมะละกาเพื่อขอตั้งสถานีการค้าแต่ถูกปฏิเสธ จนนำไปสู่สงครามระหว่างโปรตุเกส-มะละกา ซึ่งโปรตุเกสเป็นฝ่ายชนะเมื่อ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2054 มะละกาถูกเนเธอร์แลนด์ยึดครองเมื่อ พ.ศ. 2184 หลังจากเนเธอร์แลนด์ขับไล่โปรตุเกสออกไป ต่อมามะละกากลายเป็นอาณานิคมของอังกฤษตามสนธิสัญญาแองโกล-ดัตซ์ หรือสนธิสัญญาอังกฤษ-ฮอลแลนด์ พ.ศ. 2367
ภายใต้การปกครองของอังกฤษ มะละการวมกับปีนังและสิงคโปร์ในชื่อนิคมช่องแคบซึ่งแยกต่างหากจากสหพันธรัฐมลายู หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มะละกาเข้ารวมอยู่ในสหภาพมาลายา และกลายเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซียเมื่อมาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษ

ประชากร

มะละกามีประวัติศาสตร์ที่เกื่ยวกับกลุ่มคนหลากหลายเชื้อชาติและศาสนา ทำให้ปัจจุบันมะละกาเป็นรัฐที่มีวัฒนธรรมผสมผสาน โดยมีประชากรประมาณ 759,000 คน (พ.ศ. 2550) ซึ่งประกอบด้วย
  • ชาวมาเลย์ประมาณ 57%
  • ชาวจีนประมาณ 32%
  • ชาวอินเดีย
  • ชาวคริสตัง ซึ่งเป็นลูกหลานชาวโปรตุเกสในสมัยอาณานิคม